โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน 

โรคแผลริมอ่อนคืออะไร?

แผลริมอ่อน (Chancroid)  เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi  เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง จะทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศ และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ ซึ่งโรคนี้ติดต่อได้ง่าย แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง หากไม่รักษาจะเป็นสาเหตให้เกิดการติดเชื้อ HIV ได้ง่าย

ระยะฟักตัวของโรค

หลังจากที่ได้รับเชื้อ อยู่ในช่วง 1 วัน-2 สัปดาห์ แต่เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5-7 วัน จึงเริ่มพัฒนาอาการให้เห็นชัดตามมา

สาเหตุของแผลริมอ่อน

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ฮีโมฟิลุสดูเครย์ (Haemophilus ducreyi) โดยเชื้อชนิดนี้จำนวนมากจะอยู่ที่หนอง และจะเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยถลอกทางผิวหนัง จากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษ (HdCDT) ขึ้นมาทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ และมีหนองไหล ทำให้หากสัมผัสโดนของเหลวจากแผลโดยตรง ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผลหรือมือที่มีเชื้อไปสัมผัสโดนดวงตา รวมถึงการสัมผัสถูกเชื้อในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งการร่วมเพศทางปาก ทางทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงโดยปกติ เชื้อชนิดนี้มักระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือถิ่นที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่สะอาดเพียงพอ จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อในระหว่างที่พักอาศัยหรือท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้

อาการของแผลริมอ่อน

อาการของโรคแผลริมอ่อนในผู้ชาย

  • อาจมีตุ่มนูนสีแดงเล็กๆ ขึ้นบนอวัยวะเพศหนังหุ้มปลายองคชาต และถุงอัณฑะ  ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นแผลเปื่อยภายใน 1-2 วัน และแผลอาจก่อตัวขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของอวัยวะเพศก็ได้ ซึ่งรวมไปถึงองคชาต หรือถุงอัณฑะด้วย 
  • เมื่อเกิดแผล ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อน และเจ็บปวดที่บริเวณแผลมาก

อาการของโรคแผลริมอ่อนในผู้หญิง

  • อาจมีตุ่มสีแดง มากกว่าเพศชาย และแผลบวมแดง บนแคมนอก หรือระหว่างแคมนอก รูทวาร หรือบนต้นขา และเพราะแคมนอกเป็นรอยพับของผิวที่ปกคลุมอวัยวะเพศหญิงเอาไว้ ต้นขา ขาหนีบ ปากมดลูก หรือลุกลามไปจนถึงบริเวณทวารหนัก  หลังจากที่ตุ่มกลายมาเป็นแผลเปื่อยหรือแผลเปิดแล้ว 
  • อาจรู้สึกอาการคัน แสบร้อน หรือเจ็บในระหว่างที่ขับปัสสาวะหรืออุจจาระ
  • อาจมีตกขาวมากและกลิ่นรุนแรง
  • ผู้หญิงที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่สามารถแพร่เชื้อโรคแก่ผู้อื่นได้ จึงทำให้ผู้หญิงมักสังเกตอาการได้ค่อนข้างยากกว่าผู้ชาย เนื่องจากลักษณะโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น

อาการดังที่จะพบได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง

  • แผลสามารถมีขนาดแตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้วมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1/8 นิ้ว-2 นิ้ว (3 มิลลิเมตร-5 เซนติเมตร)
  • แผลมีจุดกึ่งกลางที่นิ่ม และเป็นได้ตั้งแต่สีเทาไปจนถึงสีเทาอมเหลือง อีกทั้งมีขอบที่ชัดและแหลม
  • บริเวณแผลมีอาการปวดมาก
  • ตำแหน่งของแผลอาจเกิดได้ทั่วบริเวณอวัยวะเพศ
  • เมื่อสัมผัสหรือเสียดสีอาจทำให้เลือดออกที่แผลได้ง่าย
  • ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ ขณะที่ปัสสาวะ หรืออุจจาระ
  • บริเวณขาหนีบอาจบวมขึ้น
  • ต่อมน้ำเหลืองที่บวมสามารถผ่านเข้าไปยังผิว และทำให้เกิดฝีหรือหนองขนาดใหญ่ได้
  • หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แผลจะลุกลามไปมาก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นมากจนอวัยวะเพศแหว่งหายได้ 

แผลริมอ่อนจะมีลักษณะคล้ายกับแผลจากโรคอื่น ๆ

  • โรคซิฟิลิส ในระยะแรกที่เป็นแผลที่อวัยวะเพศ ลักษณะของขอบแผลจะเรียบและแข็ง เรียกว่า แผลริมแข็ง มักมีแผลเดียว แผลไม่เจ็บและคัน
  • โรคเริม ผู้ป่วยจะมีผื่นตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศหลายตุ่มอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อน ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือแผลแดง ๆ คล้ายรอยถลอก อาจมีอาการเจ็บหรือคัน ต่อมาจะแห้ง อาจมีสะเก็ดหรือไม่มีก็ได้ แล้วหายไปได้เอง ซึ่งต่างจากโรคแผลริมอ่อนที่ไม่แห้งหายไปเองได้ถ้าไม่รักษา
  • โรคฝีมะม่วง ผู้ป่วยมักมีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ และหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน โดยที่ผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกตเห็น และต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมาก

กลุ่มที่มีความเสี่ยงติดโรคแผลริมอ่อน

  1. การมีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนอยู่บ่อยๆ
  2. การมีเซ็กซ์ที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  3. การใช้สารเสพติด หรือชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. มีเซ็กซ์กับผู้ให้บริการทางเพศ
  5. มีเซ็กซ์ทางทวาร
  6. อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบแคริบเบียนและแอฟริกา
  7. เป็นผู้เดินทางหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่ที่อยู่อาศัย น้ำ อาหาร และระบบสาธารณสุขไม่สะอาด

การป้องกันแผลริมอ่อน

  • หากเป็นแผลที่อวัยวะเพศควรงดการมีเพศสัมพันธ์
  • ควรสวมถุงยางป้องกันทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์
  • รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
  • ผู้ที่เป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องกันการเกิดโรคแผลริมอ่อนได้ดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
  • การกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษา ซึ่งดูแล้วจะไม่คุ้ม สู้รอให้มีอาการแสดงออกมาแล้วค่อยรักษาไม่ได้

การรักษาแผลริมอ่อน

แผลริมอ่อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง และไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำซาก (หากรักษาไม่ครบจะทำให้เชื้อดื้อยา) และช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ไวขึ้นและลดรอยแผลเป็น แต่ในบางรายที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจนมีขนาดใหญ่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด โรคแผลริมอ่อน บางครั้งอาจแยกออกจากซิฟิลิสได้ไม่ชัดเจน ถ้าผู้ป่วยรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือสงสัยว่าเป็นซิฟิลิสควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ชัด แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว หลังจากวันที่เข้ารับการรักษาเป็นเวลา 3 เดือน ผู้ป่วยควรไปเจาะเลือดตรวจหาวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวีด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคซิฟิลิสหรือติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ติดต่อเรา