โรคเบาหวาน โรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินสุลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีอินสุลิน เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

โรคเบาหวานคืออะไร ?

โรคเบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่เกิดจากความ ผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินสุลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีอินสุลิน เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมองและกล้ามเนื้อ ในภาวะที่อินสุลินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของปริมาณอินสุลินในร่างกาย หรือการที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตอบสนองต่ออินสุลินลดลง (หรือที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินสุลิน) จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลคงเหลือในกระแสเลือดมากกว่าปกติ

โรคเบาหวานมีกี่ชนิด ?

ล่าสุดในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งชนิดเบาหวานใหม่เป็น 6 ชนิด ดังนี้

  1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes)

เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการทำลายเซลล์เบต้าของตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ผลิตอินซูลิน มักพบในคนอายุน้อย เบาหวานชนิดนี้สัมพันธ์กับพันธุกรรม และปัจจัยสิ่งแวดล้อม การรักษาต้องใช้ยาอินซูลินเป็นหลัก

  1. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes)

เป็นเบาหวานชนิดที่พบมากที่สุด เกิดจากการดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับการขาดอินซูลิน อาการมักค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน หรือมีไขมันสะสมอวัยวะภายใน (visceral adiposity) เบาหวานชนิดนี้มักพบมากในผู้ใหญ่ (วัยผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน) แต่สามารถพบในเด็ก และวัยรุ่นได้

  1. เบาหวานชนิดผสม (Hybrid forms of diabetes) ประกอบด้วย
    • เบาหวานที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน (Slowly evolving immune – mediated diabetes) ช่วงแรกผู้ป่วยจะมีลักษณะคล้ายเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ตับอ่อนจะค่อย ๆ ถูกทำลายภูมิคุ้ม จนผู้ป่วยต้องใช้อินซูลินภายใน 6 – 12 เดือน
    • เบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Ketosis – prone type 2 diabetes)
  1. เบาหวานที่ระบุชนิดชัดเจน (Other specific types)
    • เบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของยีนที่ควบคุมการทำงานของเซลล์เบต้าของตับอ่อน หรือ การทำงานของอินซูลิน
    • เบาหวานที่เกิดจากโรคของตับอ่อน เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบภาวะเหล็กเกินที่สะสมในตับอ่อน (hemochromatosis)
    • เบาหวานที่เกิดจากโรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น โรคคุชชิ่ง โรคโครเมกะลี
    • เบาหวานที่เกิดจากยา หรือ สารเคมี เช่น ยาสเตียรอยด์
    • เบาหวานที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หัดเยอรมัน
    • เบาหวานที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ภูมิคุ้มกันต่อตัวรับอินซูลิน
    • กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่พบเกี่ยวข้องกับเบาหวานด้วย
  1. เบาหวานที่ไม่สามารถแยกชนิดได้

ใช้กับเบาหวานที่เพิ่งตรวจพบ จึงยังไม่สามารถวินิจฉัยแยกชนิดได้

  1. ภาวะน้ำตาลสูงที่ตรวจพบในช่วงระหว่างตั้งครรภ์

เบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยระหว่างการตั้งครรภ์ เกิดจากระหว่างตั้งครรภ์มีความดื้อของอินซูลินเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนเอสเตรเจน ฮอร์โมนเฮชซีจี จากรก เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งมารดาและทารก ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจและรับการรักษาอย่างใกล้ชิด

อาการของโรคเบาหวาน

  • ปัสสาวะบ่อย
  • คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก
  • หิวบ่อย รับประทานจุแต่น้ำหนักลดลง
  • มีอาการอ่อนเพลีย
  • ถ้าเป็นแผลจะหายยาก
  • ติดเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณช่องคลอด
  • ชาปลายมือ ปลายเท้า

การวินิจฉัยเบาหวาน

  1. การตรวจพบน้ำตาล ขณะอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร*
  2. การตรวจพบระดับน้ำตาล 2 ชั่วโมงหลังรับประทานน้ำตาล 75 กรัม มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร*
  3. การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) มากกวาหรือเท่ากับ 6.5 %
  4. ในผู้ป่วยที่มีอาการของน้ำตาลสูง ร่วมกับตรวจพบน้ำตาลสูงมากกว่าเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร*

การรักษาโรคเบาหวาน

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงปกติที่สุดได้ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงทำงานประจำได้ตามปกติหากแต่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการควบคุมอาหาร  ออกกำลังกาย และใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้มาก

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเบาหวาน

การควบคุมอาหาร

การรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีการควบคุมอาหารมีความสำคัญมากในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และถือเป็นการรักษาหลักที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายควรเข้าใจและปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้อย่างไม่จำกัดจำนวนได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ขาว เป็นต้น อาหารบางชนิดที่สามารถรับประทานได้ในปริมาณจำกัด เช่น ผลไม้ แนะนำให้รับประทานผลไม้ชนิดหวานน้อย เช่นฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร เป็นต้น

การออกกำลังกาย

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานการออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาโรคเบาหวานที่สำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้อินสุลินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำว่าควรออกกำลังกายชนิดแอโรบิค เช่น วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และออกกำลังกายชนิดต้านน้ำหนัก เช่น การยกเวท เป็นเวลาอย่างน้อย 45 นาทีต่อวัน 2 วันต่อสัปดาห์ และไม่ควรนั่งอยู่เฉย ๆ หรือนอนเล่นพักผ่อนเกิน 90 นาที หากเกินควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบท

การใช้ยา

การรักษาโรคเบาหวานโดยการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของโรคเบาหวาน เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 ควรรักษาโดยการฉีดอินสุลินเท่านั้น ส่วนในเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน โอกาสการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ และเศรษฐานะของผู้ป่วยเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกใช้ยา

ขอบคุณข้อมูลจาก : medparkhospital, chulabhornhospital, thonburihospital

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ติดต่อเรา