ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายที่ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งถ้าหากว่าเป็นโรคที่ยังไม่สามารถคิดค้นการรักษาให้หายขาดได้แล้ว ย่อมมีการตระหนักถึงการป้องกันและหาแนวทางการหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด แต่ทราบหรือไม่ว่าหนึ่งในโรคที่มีการรวบรวมสถิติทางการแพทย์แล้วว่าเป็นโรคที่มีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก คือ การติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) เชื้อไวรัสอันตรายที่มีระยะการแฝงตัวเงียบในร่างกายมนุษย์ได้นานกว่า 10 ปี โดยไม่แสดงอาการให้เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งไวรัสจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่การพัฒนาเข้าระยะโรคเอดส์ได้ในที่สุด

ดังนั้นการตรวจ HIV จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการแพร่สู่ผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบผลเลือดของตนโดยเร็วที่สุดหากได้รับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาไม่นาน สิ่งสำคัญคือการตระหนักถึงการป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี การรักษาเอชไอวี การตรวจ HIV ตลอดจนการเปิดใจไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

อาการของผู้ติดเชื้อ HIV

ช่วงประมาณ 14-28 วันแรกที่ได้รับเชื้อเอชไอวี จะเป็นช่วงที่ผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย มีอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ทั่วไป หรือคล้ายกับอาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ และจะไม่แสดงอาการอีกในระยะเวลาหลายปี อาการคือจะเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ไอเรื้อรัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อย เมื่อยล้าตามตัว ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังเป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ รอยฟกช้ำเป็นจุด ต่อมน้ำเหลืองบวม น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรัง เหงื่อออกมากผิดปกติ

HIV มีกี่ระยะ?

เอชไอวีจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ​

  1. ระยะเฉียบพลัน เป็นระยะที่เกิดขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีเชื้ออยู่ในเลือดเป็นจำนวนมาก และแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย ในช่วงแรกอาจมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายจากการติดเชื้อ
  2. ระยะอาการสงบ เป็นระยะที่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย แต่มีอัตราการเพิ่มจำนวนของเชื้ออยู่ในปริมาณต่ำ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็น แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หากไม่ระมัดระวัง ทั้งนี้ ระยะอาการสงบนี้อาจเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล เพราะผู้ป่วยในระยะอาการสงบบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมอาการและลดโอกาสในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
  3. ระยะเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS) หากผู้ป่วยไม่รับประทานยาหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เชื้อเอชไอวีเพิ่มจำนวนขึ้นและทำลายภูมิคุ้มกัน เป็นเหตุให้อาการของผู้ป่วยเข้าสู่ระยะเอดส์ซึ่งเป็นระยะที่มีความรุนแรงที่สุดในการติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส

ควรตรวจหาเชื้อ HIV เมื่อไหร่

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่ใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่เกิดในพื้นที่ที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูง (การรู้ว่าประเทศเกิดของแม่คุณช่วยได้)
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันกับคู่นอนมากกว่าหนึ่งคนในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา และ/หรือ
  • ผู้ที่คู่ของคุณอาศัยอยู่กับเอชไอวีและไม่ใช้ยาเพื่อควบคุม
  • ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรือแต่งงาน
  • ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตนมีพฤติกรรมเสี่ยง
  • ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่และตัวเด็ก
  • ผู้ที่จะเดินไปทำงานต่างประเทศ เพราะต้องการข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพร่างกาย

การรับมือและพัฒนาด้านการตรวจ HIV ในปัจจุบัน

เมื่อมีการรายงานการติดเชื้อเอชไอวีแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกช่วงปี พ.ศ.2527 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขของไทยวางแผนการยุติปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตั้งเป้าในระยะยาวให้ประเทศไทยหยุดปัญหาเอดส์และการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้ในปี พ.ศ.2573 ซึ่งต้องการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ลดน้อยลง รวมไปถึงสร้างความเข้าใจให้ผู้ติดเชื้ออยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติ โดยไร้ซึ่งการตีตราทางสังคมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เชื่อมโยงกับการพัฒนาแนวทางการเข้าถึงการตรวจ HIV ให้ประชาชนได้เข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีในการตรวจ HIV การรักษาเอชไอวีด้วยยาต้านที่พัฒนาขึ้นเพื่อภาวะหลังจากได้รับความเสี่ยงหรือก่อนการเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้ลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงสุดถึง 80% 

ปัจจุบันการตรวจ HIV ในประเทศสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่เดิมมาก ด้วยการผลักดันของทุกภาคส่วนให้รองรับบริการขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสามารถเข้ารับการตรวจ HIV ฟรี ได้ในโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีละ 2 ครั้ง เพื่อมุ่งเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ทั้งยังมีการกระจายบริการตรวจ HIV ถึงระดับชุมชน พร้อมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์และให้การสนับสนุนด้านวิชาการ ด้วยเป้าหมายหลักในการลดอัตราการแพร่เชื้อเอชไอวีให้ได้ภายในปีที่กำหนด

การตรวจ HIV กี่วันรู้ผล?

คำถามยอดฮิตที่หลายคนยังคงมีความสงสัยก่อนเริ่มทำการตรวจ HIV ด้วยความที่ช่วงเวลาในการรอผลตรวจนั้น ส่งผลต่อความกังวลใจต่าง ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อ แนวทางการรักษา ความกังวลใจต่อการแพร่เชื้อไปสู่คู่นอน ตลอดจนเรื่องสำคัญอย่างการรับมือของบุคคลในครอบครัว สิ่งเหล่านี้เองทำให้ช่วงเวลาในการทราบผล กลายเป็นสิ่งที่หลายคนเลือกวิธีการตรวจที่เร็วกว่าควบคู่ไปกับผลการตรวจ HIV ที่มีความแม่นยำด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราไปดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าว่าการตรวจ HIV แต่ละวิธีต้องใช้ระยะเวลากี่วันจึงจะรู้ผลที่ชัดเจน โดยการตรวจ HIV ในปัจจุบันจะแบ่งออกได้ 4 วิธีดังต่อไปนี้

การตรวจ HIV แบบ Anti-HIV

การตรวจ HIV ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง ด้วยการตรวจหาภูมิต้านทาน หรือ Antibody ในร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยการตรวจเลือด เป็นวิธีที่สามารถตรวจ HIV พบได้หลังจากติดเชื้อในร่างกายมาแล้วประมาณ 3-12 สัปดาห์ ดังนั้นหากผู้ตรวจทำการตรวจหลังการติดเชื้อได้ไม่นาน อาจได้รับผลตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) ได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจ HIV ซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาที่แพทย์พิจารณาแล้ว

การตรวจ HIV แบบ NAT (Nucleic Acid Testing)

การตรวจ HIV ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี โดยวิธีนี้สามารถตรวจพบเชื้อหลังจากติดเชื้อเอชไอวีได้ในช่วง 3-7 วัน ซึ่งในปัจจุบันวิธีนี้นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้บริจาคโลหิตเท่านั้น แต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ในการตรวจ HIV ภายในสถานพยาบาล

การตรวจ HIV แบบ Rapid HIV Test

การตรวจ HIV ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 20 นาที นับว่าเป็นวิธีการตรวจที่เร็วกว่าวิธีอื่น ๆ อย่างมาก อย่างไรก็ตามยังใช้เพื่อการตรวจคัดกรองเท่านั้น เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้เป็นเพียงการตรวจโดยการหยดเลือด หรือ ซีรั่ม ลงบนชุดตรวจคล้ายกับการใช้ชุดตรวจครรภ์ที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งในปัจจุบันมีวางจำหน่ายอย่างถูกต้องตามร้านขายยา รวมถึงคลินิกเฉพาะด้านทั่วประเทศ ดังนั้นจึงจะต้องทำการตรวจยืนยันโดยแพทย์อีกครั้ง ในกรณีที่ได้ผลบวก และในขณะเดียวกันหากได้ผลตรวจ HIV เป็นลบ ผู้ตรวจไม่ควรชะล่าใจ แนะนำให้ตรวจย้ำอีกครั้งหลังจากครั้งล่าสุดประมาณ 1 เดือน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อร่วมด้วย

การตรวจ HIV แบบ  Fourth Generation

การตรวจ HIV ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 20 นาที ด้วยจุดเด่นที่สามารถตรวจหาแอนติบอดีและแอนติเจนของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้พร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจ HIV เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ โดยตรวจได้หลังจากติดเชื้อตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป

สำหรับข้อสรุปเกี่ยวกับการตรวจ HIV กี่วันรู้ผล และหากรู้ผลแล้วควรตรวจซ้ำหรือไม่ คำตอบจะขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้านไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาในการตรวจห่างจากความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน การพิจารณาของแพทย์จากการวินิจฉัยเบื้องต้น รวมไปถึงวิธีการตรวจ HIV ที่แต่ละสถานพยาบาลรองรับ ซึ่งหากได้รับคำแนะนำจากแพทย์แล้วว่า ควรเข้ารับการตรวจซ้ำอีกครั้ง ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พร้อมกันนั้นไม่ควรชะล่าใจโดยไม่ป้องกันตนเองจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามควรรับการตรวจ HIV อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงทีมากที่สุดนั่นเอง สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชไอวี รับยาต้านไวรัส หรือรักษา ได้ที่ Hugsa Clinic กลางเวียง เชียงใหม่ ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ติดต่อเรา