เริมคืออะไร?

เริม หรือ โรคเริม (Herpes simplex) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนังโดยการสัมผัสผู้ที่มีเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรงหรือทางอ้อม เช่น การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้ของร่วมกัน รับประทานอาหารร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์ เริมเป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้(แต่ไม่หายขาด) สามารถเกิดโรคซ้ำได้เมื่อร่างกายถูกกระตุ้นด้วยสภาวะที่เหมาะสมกับการทำงานของเชื้อไวรัส เพราะหลังจากได้รับเชื้อ Herpes simplex Virus แล้ว เชื้อจะเข้าไปอยู่ในปมประสาท เมื่อมีปัจจัยต่างๆ ไปกระตุ้นเชื้อไวรัส เชื้อจะเคลื่อนตามเส้นประสาทมายังปลายประสาททำให้เกิดโรคซ้ำที่ผิวหนังได้อีก

อาการของเริม

โดยรวมแล้วอาการของเริมที่ปาก และเริมที่อวัยวะเพศนั้นค่อนข้างคล้ายกัน โดยจะมีตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ ได้แก่ ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก บั้นท้าย หรือต้นขา มีอาการเจ็บปวด แสบที่บริเวณแผล หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการค่อนข้างรุนแรงและหายช้า แต่ถ้าหากเป็นการติดเชื้อซ้ำ อาการจะไม่รุนแรงและหายได้เร็วกว่า

สาเหตุของเริม

เริมมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) เชื้อไวรัสดังกล่าวแบ่งออกเป็น อีก 2 ชนิดย่อย ๆ คือ

1. Herpes simplex virus-1 (HSV-1)

ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การโดนแผล ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การรับประทานอาหารร่วมกัน การจูบ การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เชื้อตัวนี้ก่อให้เกิดโรคบริเวณปาก ริมฝีปาก ใบหน้า ช่องปาก ถ้าหากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้

2. Herpes simplex virus-2 (HSV-2)

ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย เช่น ถุงอัณฑะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเป็นการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโดยตรง

เมื่อใด ควรไปพบแพทย์

  • มีตุ่มพอง ลุกลามมาก
  • ไข้สูง ไข้ไม่ลดภายใน 1 – 3 วัน (ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ)
  • เริ่มมีอาการทางดวงตา เช่น เจ็บตา เคืองตา น้ำตาไหล
  • มีตุ่มน้ำเป็นหนอง ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยา
  • มีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะมาก แขน ขาอ่อนแรง ชัก และ/หรือโคม่า

การป้องกันโรคเริม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเริมให้หายขาดได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยคำแนะนำที่ดีที่สุด คือ การลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันโอกาสได้รับเชื้อเริมที่แพร่กระจายมาจากผู้อื่น ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หมั่นทำความสะอาดร่างกายทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพียงเท่านี้คุณเองก็สามารถป้องกันตัวเองได้

วิธีการรักษาโรคเริม

เริมยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ดังนั้นในช่วงที่เกิดอาการ แพทย์อาจสั่งยาลดอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน นอกจากนี้เพื่อบรรเทาอาการปวดและระคายเคืองก็อาจใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาชาเพื่อบรรเทาอาการชั่วคราวได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องใช้ยาต้านไวรัสเพื่อควบคุมการแพร่กระจายและบรรเทาความรุนแรงและความถี่ในการเกิดโรค โดยยาต้านไวรัสที่นิยมใช้มีดังนี้

  • ยาชนิดครีม ยาชนิดครีมสำหรับใช้ทาเป็นยาที่มีส่วนประกอบของยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • ยาชนิดรับประทาน ยาชนิดรับประทานเป็นยาที่จำเป็นต้องได้รับการสั่งจากแพทย์เท่านั้นเนื่องจากเป็นยาที่อาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ วิงเวียน โดยยาที่แพทย์แนะนำให้ใช้ ได้แก่ อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แต่บางกรณีก็อาจสั่งยาชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ เช่น ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเริม

เริมหายเองได้ไหม?

โดยทั่วไปสามารถหายเองได้ โดยผื่นจะยุบตัวลงได้ภายใน 7 วัน การใช้ยาจะช่วยทำให้ผื่นหายเร็วขึ้นได้

เป็นเริมมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่เป็นเริมจะมีความเสี่ยงในการติดโรคสูงมาก แม้ว่าจะมีการสวมถุงยางอนามัย แต่ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เพียงบางส่วน เนื่องจากถุงยางอนามัยไม่ได้ครอบคลุมทุกส่วนของอวัยวะเพศ จึงทำให้ยังมีความเสี่ยงที่แพร่เชื้อเริมให้แก่กันได้ ดังนั้นจึงควรงดมีเพศสัมพันธ์

เป็นเริมสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ไหม?

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหมัก ดอง เป็นอาหารที่ควรงดรับประทานเมื่อเกิดเริม ถ้าหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้หายได้ช้าลงและรุนแรงมากขึ้น

หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคเริม หรือ พบเจอการเริ่มต้นลักษณะใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเริมควรรีบทำการตรวจและรักษาโดยเร็วที่สุด โดยหนึ่งในช่องทางที่สะดวกสบาย เข้าถึงง่าย และไม่ต้องกังวลกับการเขินอายในการเข้ารับการตรวจ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่ Hugsa Clinic กลางเวียง เชียงใหม่ ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ติดต่อเรา