ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อซิฟิลิสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้พบทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว

ซิฟิลิสคืออะไร?

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ที่สามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางการสัมผัสผู้มีเชื้อ ทั้งการจูบ การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสแผล การรับเลือดมาจากผู้ติดเชื้อ หรือการสัมผัสเข็มที่ติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งการติดจากแม่สู่ลูก ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ทำให้หลายคนชะล่าใจ จนกระทั้งไปจนถึงระยะสุดท้าย อาจจะรักษาไม่ทันการณ์ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ซิฟิลิสมีกี่ระยะ ?

ซิฟิลิสสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1

เกิดตุ่มเล็กขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร บริเวณอวัยวะเพศ  ริมฝีปาก ลิ้น  และหัวนม  โดยตุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตก เป็นแผล  ไม่มีอาการเจ็บ หากปล่อยทิ้งไว้เชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ระยะนี้เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการเนื่องจากแผลและอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตจะค่อยๆ หายไป ผู้ป่วยจึงมักนิ่งนอนใจว่าไม่ได้เป็นอะไร โดยเกิดแผลหลังรับเชื้อไปแล้วไม่เกิน 2 เดือน และหายไปเองภายใน 6 สัปดาห์

ระยะที่ 2

อาการจะพัฒนาจากระยะที่ 1 ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยจะเกิดตุ่มขึ้นตามตัว น้ำหนักลดลง ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวม และผมร่วง เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกับระยะที่ 1 อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเช่นกัน

ระยะที่ 3

เป็นช่วงที่ไม่มีอาการ มารดาที่ตั้งครรภ์และเป็นโรคในระยะนี้ เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อไปยังทารกในครรภ์ได้หากมาถึงระยะนี้และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง เป็นอัมพาต เสียสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ระยะที่ 4

หลังจากได้รับเชื้อในระยะเวลานาน 2 – 30 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเชื้อจะทำลายอวัยวะภายใน รวมถึงอาจส่งผลให้ ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป สมองเสื่อมหรือเสียสติ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าเชื้อลามไปถึงหัวใจ จะทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต

การวินิจฉัยซิฟิลิส

การวินิจฉัยซิฟิลิส สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนั้นจะคงอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อในอดีตได้ด้วย นอกจากนี้ หากเกิดการติดเชื้อซิฟิลิสในระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อนำไปทำการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อโรคซิฟิลิสในระยะที่สามและเกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท แพทย์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

ซิฟิลิสติดต่อกันได้อย่างไร ?

  • การจูบ
  • ทางเพศสัมพันธ์
  • จากแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์
  • จากการรับเลือดจากผู้ติดเชื้อ
  • จากการสัมผัสโดยตรงกับแผลผู้ป่วย

กิจกรรมเหล่านี้ไม่ทำให้ติดซิฟิลิส​

  • การกอด การจับมือ
  • การใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกัน
  • การนั่งฝารองชักโครก หรือใช้ห้องน้ำเดียวกัน
  • การว่ายน้ำในสระเดียวกัน หรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายร่วมกัน

ซิฟิลิสป้องกันได้อย่างไร?

  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • สังเกตอาการ ตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง
  • ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • มีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยาหรือคู่นอนของตนเองเพียงคนเดียวเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการขาดสติ ที่อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน

การรักษาซิฟิลิส

ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งตรวจพบได้เร็ว ผลการรักษายิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากพบว่าการติดเชื้อของผู้ป่วยอยู่ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จะสามารถหยุดการลุกลามของโรคได้ด้วยการฉีดยาเพนิซิลลินเพียง 1 เข็ม แต่ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี อาจต้องรับการยาฉีดชนิดนี้มากขึ้นอีกเมื่อพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์ก็จะเสนอการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ

ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อซิฟิลิสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้พบทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากคุณกำลังมองหาสถานที่ตรวจวินิจฉัย หรือรักษาซิฟิลิส ขอแนะนำที่ Hugsa Clinic กลางเวียง ให้บริการโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

“ซิฟิลิสยิ่งตรวจพบเร็ว ผลการรักษายิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม

ติดต่อเรา